Internet of Things หรือ IoT คือ สภาพแวดล้อมอันประกอบด้วยสรรพสิ่งที่สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกันได้ผ่านโพรโทคอลการสื่อสารทั้งแบบใช้สายและไร้สาย โดยสรรพสิ่งต่างๆ มีวิธีการระบุตัวตนได้ รับรู้บริบทของสภาพแวดล้อมได้ และมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบและทำงานร่วมกันได้ ความสามารถในการสื่อสารของสรรพสิ่งนี้จะนำไปสู่นวัตกรรมและบริการใหม่อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น เซ็นเซอร์ภายในบ้านตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้อยู่อาศัย และส่งสัญญาณไปสั่งเปิด/ปิดสวิตซ์ไฟตามห้องต่างๆ ที่มีคนหรือไม่มีคนอยู่ อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพของผู้ป่วย/ผู้สูงอายุและส่งข้อมูลไปยังบุคลากรทางการแพทย์ หรือส่งข้อความเรียกหน่วยกู้ชีพหรือรถฉุกเฉิน เป็นต้น
นอกจากนี้ IoT จะเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า Industry 4.0 ที่จะอาศัยการเชื่อมต่อสื่อสารและทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องจักร มนุษย์ และข้อมูล เพื่อเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจที่รวดเร็วและมีความถูกต้องแม่นยำสูง โดยที่ข้อมูลทั้งหลายที่เก็บจากเซ็นเซอร์ที่ใช้ตรวจวัดตัวอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมจะถูกนำมาวิเคราะห์ ให้ได้ผลลัพธ์เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตได้อย่างทันที นอกจากการข้ามขีดจำกัดเรื่องเวลาแล้ว ระบบควบคุมหรือระบบวิเคราะห์ข้อมูล อาจไม่ได้อยู่ในที่เดียวกันกับเครื่องจักร แต่สามารถควบคุมสั่งการได้โดยไร้ขีดจำกัดเรื่องสถานที่
เทคโนโลยีที่ทำให้ IoT เกิดขึ้นได้จริงและสร้างผลกระทบในวงกว้างได้ แบ่งออกเป็นสามกลุ่มได้แก่ 1) เทคโนโลยีที่ช่วยให้สรรพสิ่งรับรู้ข้อมูลในบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น เซ็นเซอร์ 2) เทคโนโลยีที่ช่วยให้สรรพสิ่่งมีความสามารถในการสื่อสาร เช่น ระบบสมองกลฝังตัว รวมถึงการสื่อสารแบบไร้สายที่ใช้พลังงานต่ำ อาทิ Zigbee, 6LowPAN, Low-power Bluetooth และ 3) เทคโนโลยีที่ช่วยให้สรรพสิ่งประมวลผลข้อมูลในบริบทของตน เช่น เทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์ และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Analytics
ในด้านสถานะการพัฒนา เทคโนโลยีในกลุ่มเซ็นเซอร์ในปัจจุบันมีความแม่นยำสูง และราคาถูกมาก ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเซ็นเซอร์คุณภาพสูงสำหรับงานด้านการเกษตร และอุตสาหกรรม ส่วนเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัวก็มีความสามารถสูงขึ้นในราคาที่ถูกลง แผงวงจรไมโครคอนโทรลเลอร์ขนาดเล็กที่มีความสามารถสูงเทียบเท่าคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันมีราคาตั้งแต่สามร้อยบาท อีกทั้งมีฮาร์ดแวร์แบบโอเพ่นซอร์สมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตอุปกรณ์ IoTต่ำลงมาก นักพัฒนาชาวไทยสามารถนำฮาร์ดแวร์เปิดเหล่านี้ไปดัดแปลงและขายเป็นบอร์ดเฉพาะทาง หรือสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ส่วนเทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์ และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ในต่างประเทศผ่านจุดของการวิจัยมาสู่บริการเชิงพาณิชย์แล้ว ในประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มีบริการคลาวด์แพลตฟอร์ม NETPIE สำหรับให้บริการเชื่อมต่อสื่อสารในรูปแบบ IoT
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้พัฒนาชาวไทยและประเทศไทยที่จะเข้ามามีบทบาท ไม่ใช่ในฐานะผู้ใช้เท่านั้น แต่ยังสามารถมีส่วนกำหนดทิศทาง สร้างนวัตกรรม บริการ ผลิตภัณฑ์หรือมาตรฐานใหม่ เพื่อก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำด้าน IoT ของโลกได้
ณ ปัจจุบัน ผู้คนทั่วๆ ไป อาจจะคุ้นเคยกับ “Internet” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพของการเชื่อมต่อ ระหว่างคน กับ ระบบอินเทอร์เน็ต ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ และ อื่นๆ อีกมากมายหลายรูปแบบ แต่ถ้าพูดถึงคำๆ ว่า “Internet of Thing” ในตอนนี้ อาจจะมีผู้คนมากมายเกิดอาการงงๆ ว่า “Internet” กับ “Thing” มันเป็นคืออะไร เกี่ยวกันอย่างไร
“คน กับ อินเทอร์เน็ต” ไปสู่ “สิ่งของ กับ อินเทอร์เน็ต”
Internet of Things (IoT) คือ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และ เครื่องมือต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ตู้เย็น โทรทัศน์ และอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยเครื่องมือต่างๆ จะสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ในอนาคต ผู้บริโภคทั่วไปจะเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่ทำให้พวกเขา สามารถควบคุมสิ่งของต่างๆ ทั้งจากในบ้าน และสำนักงานหรือจากที่ไหนก็ได้ เช่น การควบคุมอุณหภูมิภายในบ้าน การเปิดปิดไฟ ไปจนถึงการสั่งให้เครื่องทำกาแฟ เริ่มต้มกาแฟ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องถูกพัฒนาก่อนที่ IoT จะเป็นความจริงขึ้นมา เช่น ระบบตรวจจับต่างๆ (Sensors) รูปแบบการ เชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ และระบบที่ฝังตัวอยู่ในคอมพิวเตอร์ แต่ขณะนี้ บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Microsoft และ Cisco ก็หันมาให้ความสนใจกับเทคโนโลยีนี้ และในปี 2013 เทคโนโลยี “Internet of Things” จะถูกพูดถึงกันมากขึ้น และจะมีการทำวิจัยและ พัฒนาเพื่อทำให้ สามารถนำมาใช้ได้จริงมากขึ้น (ศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง Internet of Things ได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=sfEbMV295Kk)
อีก 5 ปี สิ่งของกว่าแสนล้านชิ้น หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 300% จะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
จากการคาดการณ์ในผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม IT ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ณ จากนี้ไป อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันชนิดต่างๆ จะเชื่อมกับระบบอินเทอร์เน็ต เพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณกว่า แสนล้านชิ้น เนื่องจากอุปกรณ์ Sensor ต่างๆ ที่จะติดตั้งในอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และส่งสัญญาณต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจะมีราคาลดลงไม่น้อยกว่า 80-90% จากราคาในปัจจุบัน การเชื่อมต่อโดยมี Sensor ที่เกิดขึ้นจากความทันสมัยซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำลงทุกๆ วันของ เทคโนโลยี Micro Electromechanical Sensors (MEMS) นั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่บริบทของชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่อาจจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งของในอุตสาหกรรมหนึ่งกับสิ่งของในอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง หรือ อุตสาหกรรมกับหน่วยงาน และ อื่นๆ อีกมากมายหลายบริบท
คน, สิ่งของ และ องค์กร (Human, Thing, and Organization)
องค์กรในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือ หน่วยงานราชการสามารถนำขีดความสามารถของ Internet of Things มาช่วยในการบริหารจัดการสินทรัพย์, การคำนวณ หรือ ประมาณการ ปริมาณการทำงาน, และการพัฒนาสิ่งใหม่ โดยใช้ช้อมูลต่างๆ ที่ถูกรวบรวมผ่าน Sensors Technology แล้วส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มาเก็บไว้ในฐานข้อมูลกลาง ผมขอตัวอย่างง่ายๆ ของการประยุกต์ใช้ Internet of Thing เช่น อาคารจอดรถของห้างสรรพสินค้าใหญ่ หรือ อาคารจอดรถของ BTS เป็นต้น อาคารจอดรถเหล่านี้ จะมี Sensor ไว้ตรวจสอบจำนวนรถที่จอดในอาคาร โดย Sensor เหล่านี้ จะส่งสัญญาณว่าพื้นที่ตรงนั้นมีรถจอดอยู่หรือไม่ ทำให้ผู้บริหารจัดการอาคารเหล่านั้นสามารถตรวจสอบได้ว่า มีพื้นที่ตรงไหนว่าง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่จอดรถ ชั้นไหนของอาคารจอดรถ มีพื้นที่ว่าง และสามารถขับรถไปสู่พื้นที่จอดนั้น โดยไม่ต้องเสียเวลาขับรถวนไปมา จากตัวอย่างข้างต้น จะช่วยให้ท่านเห็นภาพระหว่าง “Thing” ซึ่งก็คือ “รถยนต์” ที่ถูกตรวจจับโดย “Sensor” และ Sensor จะส่งสัญญานไปสู่ Server ผ่านระบบเครือข่าย ซึ่งอาจจะเป็น “เครือข่ายภายใน (Intranet)” หรือ “เครือภายภายนอกทั้งที่เป็นระบบปิด (Extranet)” หรือ “เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เป็นระบบเปิด (Internet)” หรือการที่แพทย์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปตรวจคนไข้ที่บ้าน แต่สามารถเช็คอาการต่างๆ ผ่าน Sensor ต่างๆ ที่ติดตั้งไว้ในอุปกรณ์แพทย์ ณ บ้านคนไข้ เป็นต้น
Internet of Thing กับการประยุกต์ใช้ทางทหาร
“Internet of Things” สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการทางทหารได้มากมาย เนื่องจากมีสิ่งอุปกรณ์ (สป.)มากมายที่ถูกใช้ในด้านการทหาร ยกตัวอย่างเช่น การนำมาประยุกต์ใช้ในด้านส่งกำลัง/ซ่อมบำรุง การบริหาร สิ่งอุปกรณ์ต่างๆ (Inventory Management) เช่น การบริหารจัดการ Inventory ของ อาวุธ, กระสุน, ยานพาหนะ และ สป. อื่นๆ อีกมากมาย ข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายแนวทางการประยุกต์ใช้ “Internet of Things” ในด้านการทหาร และถ้าหากถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในหน่วยทหาร แล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ให้กับการบริหารจัดการทรัพยากรของกองทัพ ทั้งในภาพของหน่วย และในภาพรวม