การที่ประเทศไทยจะนำเอา "Single Gateway" มาใช้นั้น ดูเหมือนว่าจะมีการพูดเรื่องนี้กันมาสักระยะหนึ่ง แต่เพิ่งจะเริ่มตื่นตัวกันจริง ๆ ไม่นานมานี้ หลังรัฐบาลเริ่มผลักดันการใช้ Single Gateway อย่างจริงจัง ทำให้หลายฝ่ายมีการถกเถียงถึงผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งหลายคนอาจยังสงสัยว่า Single Gateway คืออะไร และหากประเทศไทยนำเทคโนโลยีที่ว่านี้มาใช้นั้น จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างไรบ้าง กระปุกดอทคอมจึงได้หยิบยกเรื่องนี้มาให้ทุกคนทำความรู้จัก และร่วมพิจารณาถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะต้องเผชิญหากมีการใช้ Single Gateway ในประเทศไทยขึ้นมากันค่ะ
Single Gateway คืออะไร
หากอธิบายคำว่า Single Gateway คงต้องแยกทั้ง 2 คำออกจากกันก่อน โดยคำว่า "Gateway" หมายถึง ประตูทางผ่าน หรือศัพท์ในวงการไอที หมายถึง ประตูเชื่อมระหว่างเครือข่ายหนึ่งไปยังอีกเครือข่ายหนึ่ง และเป็นตัวที่เชื่อมต่อโครงข่ายของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการ Gateway อยู่มากมาย เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
แต่เมื่อเติมคำว่า "Single" เข้าไป กลายเป็น Single Gateway ก็จะแปลได้ว่า จะสามารถเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตผ่านประตูแค่บานเดียว นั่นก็จะเท่ากับการมีผู้ให้บริการเครือข่ายเพียงเจ้าเดียว ทำให้สามารถควบคุม ดักจับข้อมูลเมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านประตูบานนี้ไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย
ประเทศที่ใช้ Single Gateway
ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ Single Gateway คือ ลาว จีน เกาหลีเหนือ และประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศที่ภาครัฐสามารถควบคุมดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนได้สะดวก โดยเฉพาะจีนที่รัฐบาลควบคุมไม่ให้ประชาชนในประเทศเล่นสื่อโซเชียลอย่าง Facebook รวมถึงการห้ามใช้ Google นั่นเอง
และแน่นอนว่าในอดีตประเทศไทยก็เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้ Single Gateway เช่นกัน ในสมัยแรก ๆ ที่การใช้อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยเวลาที่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทุกจุดเชื่อมต่อก็จะต้องมารวมกันที่ กสท. ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงผู้ให้บริการเพียงเจ้าเดียว แต่หลังจากเกิดวิกฤตไอเอ็มเอฟ ในปี 2540 ก็ได้มีการสั่งให้ประเทศไทยเปิดเสรีโทรคมนาคม ทำให้ Gateway ในไทยเพิ่มมากขึ้นจนตอนนี้มีถึงสิบกว่า Gateway แล้ว
รัฐบาลไทย ผลักดันจัดตั้ง Single Gateway
เริ่มแรกเกิดจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายเตรียมผลักดันการจัดตั้ง Single Gateway โดยมอบหมายให้กระทรวงไอซีทีรับผิดชอบ ในการตรวจสอบข้อมูลที่ไม่เหมาะสม หรือบล็อกข้อมูลที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย รวมทั้งเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ด้วยการก่อการร้าย ซึ่งมีการสั่งงานของรัฐบาลเป็นระยะ คือ
- วันที่ 30 มิถุนายน 2558 มีการมอบหมายให้กระทรวงไอซีทีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต
- วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ให้กระทรวงไอซีทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดตั้ง Single Gateway ตามมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 2558) โดยด่วนต่อไป
- วันที่ 4 สิงหาคม 2558 ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานความคืบหน้าการจัดตั้ง Single Gateway ให้ทุกส่วนราชการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินการทุกอย่างของรัฐบาลให้แก่ประชาชนตั้งแต่เริ่มแรก
- วันที่ 25 สิงหาคม 2558 ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเร่งรัดการดำเนินการเรื่องการจัดตั้ง Single Gateway และรายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนกันยายน 2558 ต่อไปด้วย
ข้อดี หลังการติดตั้ง Single Gateway
- รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในประเทศ ทำให้สามารถคัดกรองข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้ รวมถึงป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม
- ส่งเสริมความมั่นคงในประเทศชาติ ยากต่อการก่อการร้าย เพราะรัฐบาลจะรู้ก่อน
- ควบคุมข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลจากต่างประเทศเข้ามาทางอินเทอร์เน็ต
ข้อเสีย หลังการติดตั้ง Single Gateway
- อินเตอร์เน็ตช้าลงแน่นอน เนื่องจากมี Gateway เดียว
- หาก Gateway ล่มก็จะล่มกันหมดทั้งประเทศ เพราะจะไม่มี Gateway ตัวอื่นรองรับ
- ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปถูกจำกัดการใช้เครือข่ายกับต่างประเทศมากขึ้น และต้องระวังการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน เช่น การถูกรัฐบาลบล็อก แบน สแกน การใช้งานอินเทอร์เน็ต
- รัฐบาลสามารถปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่ประชาชนค้นหาได้อย่างรวดเร็วเต็มประสิทธิภาพ ด้วยป้องการกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่รัฐบาลไม่ต้องการ
- มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากต้องสร้าง Gateway ที่มีขนาดใหญ่รองรับปริมาณการใช้งานทั้งประเทศ และต้องใหญ่พอที่จะรองรับปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
- บริษัทข้ามชาติลังเลที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากไม่มั่นใจด้านความมั่นคงและรู้สึกไม่ปลอดภัยในการให้บริการอินเทอร์เน็ต กังวลถึงข้อมูลทางการค้าที่ถูกล้วงความลับได้ง่าย
- ประเทศไทยขาดโอกาสการเป็นฮับทางเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน
ชาวเน็ตรวมพลัง ลงชื่อต่อต้านการติดตั้ง Single Gateway
จากผลเสียที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประชาชนหลายคนไม่เห็นด้วยกับความคิดของรัฐบาล จนเกิดการรวมตัวของชาวออนไลน์ตั้งแคมเปญขึ้นมาให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยลงชื่อผ่านเว็บไซต์ โดยใช้ชื่อว่า ต่อต้านการตั้งซิงเกิล เกตเวย์ Go against Thai govt to use a Single Internet Gateway ซึ่งภายในเว็บไซต์ยังรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Single Gateway ไว้ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปร่วมศึกษาได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีนักวิชาการหลายฝ่ายออกมาถกโต้เถียงถึงการจัดตั้ง Single Gateway ซึ่งในอนาคตแนวโน้มเรื่องดังกล่าวจะมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด คงต้องรอดูความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น